Menu
ONLINE 19
TH
EN
7/05/2025

ก้าวสู่ปีที่ 4 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เดินหน้านโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ด้วยเทคโนโลยีและพลังร่วมมือ ปักธงกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งประสิทธิภาพ น่าอยู่ และความหวัง

(7 พ.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลงานในโอกาสการทำงานครบรอบ 3 ปี ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง” ด้วยหลักการทำงาน 5 ข้อ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงใจ เอาชนะสิ่งที่ยากได้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า “การขับเคลื่อนเมืองไม่สามารถทำได้ด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง ต้องเกิดจากการร่วมมือกัน” เช่น การแจ้งปัญหาผ่าน Traffy Fondue ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีเทคโนโลยีช่วยกระจายอำนาจและเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา โดย 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขปัญหาไปแล้วจำนวน 754,004 เรื่อง จากที่มีผู้แจ้งมาทั้งหมด 929,853 เรื่อง ประชาชนมีความพึงพอใจ 81% การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยดำเนินการจัดระเบียบไปแล้วจำนวน 446 จุด ทั่ว กทม. ผู้ค้าลดลงกว่า 5,300 ราย ทำให้ กทม. สามารถพัฒนาทางเท้าให้ สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ ปลอดภัย เดินได้เดินดีและเป็นมิตรกับผู้สัญจรทุกระดับ ได้กว่า 1,100 กิโลเมตรต้องขอบคุณผู้ค้า ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกัน ในส่วนของการปลูกต้นไม้ล้านต้น ที่เกิดจากการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้สามารถปลูกต้นไม้ทะลุ 1.8 ล้านต้น มีสวน 15 นาทีใกล้บ้าน เพิ่มขึ้น อีก 199 แห่ง รวมทั้งมีถนนสวยกระจายทั่วทั้ง 50 เขต

เทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ได้อย่างรวดเร็ว

กรุงเทพมหานครมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อลดอุปสรรค ลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้งสัญญาณไฟจราจร Adaptive ที่เปลี่ยนสัญญาณตามปริมาณจราจรอัตโนมัติ 72 จุดทั่วเมือง ซึ่งทำให้ลดความล่าช้าในการเดินทางได้ประมาณ 15% การติดตั้งกล้อง AI CCTV 100 จุดทั่วเมือง เพื่อช่วยดูแลด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยใช้งานร่วมกับระบบการจับภาพใบหน้า เชื่อมโยงกับข้อมูลประวัติอาชญากรของหน่วยงานด้านความมั่นคง สามารถตรวจติดตามและจับกุมบุคคลที่มีความเสี่ยงได้ทันที รวมทั้งตรวจจับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า โดยจากสถิติสามารถเก็บค่าปรับจากผู้กระทำผิดได้กว่า 1.5 ล้านบาท จาก 4.6 แสนเคส ประชาชนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขับขี่และใช้ทางเท้าอย่างปลอดภัยมากขึ้น โดยจะมีการเชื่อมโยง ข้อมูลจาก AI CCTV เข้าสู่ระบบ ทำให้สามารถทราบว่าทะเบียนรถคันนี้เป็นของใคร อยู่ที่ไหน สามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปยืนเฝ้า โปร่งใส มีหลักฐาน ข้อมูลแม่นยำ สามารถตรวจสอบได้

การจัดการเรียนการสอนแบบดิจิทัลคลาสรูม โดยนักเรียน กทม. สามารถเรียนผ่านโครมบุ๊ก ทำให้คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนเพิ่มขึ้น 28%

การเปิดให้ประชาชนและผู้สนใจใช้ประโยชน์จากข้อมูล Bangkok Open Data ของ กทม. โดยมียอดผู้ใช้งานสะสม ผ่าน Data.Bangkok มากกว่า 4 ล้านครั้ง ทั้งข้อมูลงบประมาณในรูปแบบ machine readable การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ Open contracting รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของ Open Contracting Partnership ร่วมเปิดเผยข้อมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับต่างประเทศ การนำระบบการขออนุญาตทั้งหมดที่สำนักงานเขตเข้าสู่ระบบ Online รวมทั้งพัฒนาการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ลดเวลาพิจารณาเหลือ 14 วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน

ตรวจสุขภาพล้านคน ยกฐานข้อมูลสุขภาพขึ้นออนไลน์

โดยปัจจุบัน ตรวจสุขภาพประชาชนไปแล้ว 787,629 คน ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเปราะบาง อาชีพอิสระ และประชาชนทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น พร้อมทั้งรวบรวมสรุปข้อมูลรายเขตนำไปสู่การวางแผนด้านสาธารณสุขของกรุงเทพฯ โดยพบว่าผู้รับการตรวจสุขภาพส่วนใหญ่มีไขมันในเลือดสูงถึง 48.2% พร้อมกันนี้ ยังได้พัฒนา ศูนย์เทคโนสุขภาพดี คลินิกออนไลน์ กรุงเทพมหานคร (Health Tech) และการอำนวยความสะดวกประชาชนผ่าน Telemed 8 แห่ง ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการ มากกว่า 92,000 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาที่จุดบริการ Health Tech เพื่อตรวจสุขภาพพื้นฐาน หรือรับการตรวจที่ละเอียดมากขึ้น รวมถึงสามารถปรึกษาแพทย์ทางไกล ถือเป็นการขยายบริการให้เข้าถึงประชาชน สะดวก ไม่ต้องรอคิวที่โรงพยาบาล บริหารจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น และแพทย์ก็สามารถให้บริการประชาชนได้มากขึ้น

คนรุ่นใหม่ ร่วมกับ คนที่มีประสบการณ์และมีพลัง ช่วยกันสร้างเมือง

การพัฒนาเมืองนอกจากภาครัฐแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายประชาชนจากทุกช่วงวัยที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อร่วมพัฒนาเมืองให้สอดรับความต้องการคนต้องการคนทุกกลุ่ม เช่น การร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการจัดกิจกรรม/เทศกาลตลอดปี สร้างสีสันให้พื้นที่สาธารณะทั่วเมือง , การแต่งตั้ง ‘ทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร’ ตัวแทนคนทำงานจากหลากหลาย
สายงาน เสริมพลังเครือข่ายสื่อสารภารกิจกรุงเทพมหานครสู่ประชาชน การพัฒนาเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นแก้ไข พรบ.กรุงเทพฯ ร่วมกับนักศึกษา ร่วมพัฒนาเส้นทางจักรยานร่วมกับภาคีเครือข่ายจักรยาน รวมถึง “สภาเมืองคนรุ่นใหม่” เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมนำเสนอนโยบายกับผู้บริหาร กทม. และเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาเมือง ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 800 คน และมีทีมคนรุ่นใหม่ เข้าร่วมเสนอนโยบายมากกว่า 40 ทีม

ความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร พหุวัฒนธรรม และการช่วยเหลือกัน ในการอยู่ร่วมกันในสังคมเมืองนั้นเต็มไปด้วยความแตกต่าง กรุงเทพมหานครทำหน้าที่เชื่อมระหว่างคนที่มีทรัพยากรมาก กับคนที่มีทรัพยากรน้อย เช่น BKK FOOD BANK ที่ภาคเอกชนส่งต่อมื้ออาหารให้แก่กลุ่มเปราะบางไปได้มากกว่า 4 ล้านมื้อ พร้อมเปิดพื้นที่โอบรับทุกความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัด Pride Month ทุกเดือนมิถุนายนต่อเนื่อง 3 ปีหรือการจ้างงานสำหรับคนพิการในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความเชื่อมั่นด้านความเปิดกว้าง และความหลากหลาย

การเปลี่ยนวิกฤติ ให้เป็นโอกาส

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เที่ยวสนุก แต่มีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ในปัญหามากมาย ทำให้พบโอกาสในการสะสางปัญหาด้วยวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ฝนตกหนักในปีแรก ทำให้กรุงเทพมหานครได้สำรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งพบ 737 จุด อยู่ระหว่างการแก้ไข 221 จุด แก้ไขแล้วเสร็จบางส่วน 133 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 383 จุด , สถานการณ์รถบรรทุกตกหลุม ทำให้เกิดมาตรการทั้งตั้งด่าน และ จับน้ำหนักจากสะพาน ระบบจับน้ำหนักจากสะพานจับได้กว่า 1,200 คัน ส่งศาลให้ดำเนินคดี โดยศาลพิพากษาแล้ว 2 ราย การตั้งด่านสุ่มตรวจ จับรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 65 คัน, วิศวกรอาสากว่า 130 คน ผนึกกำลังตรวจสอบอาคารหลังแผ่นดินไหว และตอบกลับเรื่องที่แจ้งมาใน Traffy Fondue กว่า 2 หมื่นเคส, ความร่วมมือกับ Airbnb จัดหาที่พักให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวฟรี
โดยมีประชาชนมาใช้เครดิต รวม 8,540 คืน และความร่วมมือจากอาสาสมัครและองค์กรจากทั่วโลก ที่เข้าช่วยค้นหาผู้ประสบภัยในพื้นที่อาคารถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ไม่เทรวม ลดประมาณขยะได้กว่า 12% ประหยัดงบประมาณไปได้แล้ว กว่า 1,200 ล้านบาท โดยความร่วมมือของภาคี และภาคเอกชน

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากข้อมูลปริมาณขยะเฉลี่ยในปี 2562 มีจำนวน 10,500 ตัน/วัน ในปี 2567 ลดลงเหลือ 9,200 ตัน/วัน จากข้อมูลปริมาณขยะเฉลี่ยในปี 2562 มีจำนวน 10,500 ตัน/วัน ในปี 2567 ลดลงเหลือ 9,200 ตัน/วัน

“หัวใจในการทำงาน คือ การสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้ จากการทำงานที่ต้องมี 3 ส่วน คือ 1) ความรู้และเทคโนโลยี 2) ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 3) ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) โดยต่อจากนี้ก็พร้อมจะนำทีมงาน “ก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง เป็นเมืองที่มุ่งหน้าไปสู่อนาคตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
 

สำหรับผลงานตามนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน ที่ผ่านมาตลอด 3 ปี โดยสรุป มีดังนี

ด้านโปร่งใสดี

  • Traffy Fondue รับเรื่องร้องเรียนแล้วมากกว่า 900,000 เคส แก้ไขแล้วเสร็จกว่า 750,000 เคส เฉลี่ยเวลาในการแก้ไขปัญหา 3.5 วันต่อเคส ประชาชนพึงพอใจในการให้บริการ มากกว่า 80%
  • เปิดเผยข้อมูล Open Bangkok เปิดข้อมูลงบประมาณแบบ Machine Readable เปิดให้ติดตามความคืบหน้าการเบิกจ่าย งบประมาณ Open Budgeting ประชาชนใช้งาน data.bangkok มากกว่า 4 ล้านครั้ง
  • ปรับระบบการขออนุญาต ได้แก่ ขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ทราบผลภายใน 14 วัน, BMAOSS ยกการขออนุญาตทั้งหมดเข้าระบบ ติดตามได้ ตรวจสอบได้ ไม่ล่าช้า จาก ต.ค. 67 คำขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในระบบแล้วประมาณ 3,000 เคส, ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าคำขออนุญาตได้ผ่าน LineOA กรุงเทพฯ
  • แก้ปัญหาทุจริต ร่วมกับ ตำรวจ สำนักงาน ป.ป.ช. และป.ป.ป. ดำเนินการกับข้าราชการทุจริตกว่า 28 ราย

ด้านเดินทางดี

  • แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ได้แก่ การแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม กว่า 516 จุด จาก 737 จุด, เตรียมความพร้อม ลอกท่อ ลอกคลอง เปิดทางน้ำไหล เฉลี่ย 70%
  • ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เช่น สร้างศาลารอรถเมล์ใหม่มากกว่า 100+ แห่ง ตั้งเป้าศาลาใหม่ 300 แห่ง + ป้าย 500 แห่ง, ชำระหนี้สิน BTS ค่า E&M และ ค่าเดินรถบางส่วน รวมแล้วกว่า 37,000 ล้านบาท
  • แก้ไขปัญหาจราจร ได้แก่ ปรับสัญญาไฟจราจรเป็นแบบ Adaptive ลดความล่าช้าได้ 15% ต่อแยก, วิเคราะห์แก้ไขปัญหาจุดฝืดไปมากกว่า 50 จุด เพิ่มความเร็วเฉลี่ย 20% ต่อจุด, ผายปากทางแยก 70 จุด
  • ส่งเสริมเมืองเดินได้ ปั่นได้ มีการปรับปรุงทางเท้าไปแล้วมากกว่า 1,100 กม.เพิ่ม Bike Sharing 1,100+ คัน เชื่อมการเดินทาง Last mile มีใช้งานกว่า 75,000 ครั้ง, พัฒนา Skywalk ย่านการแพทย์ราชวิถี สะพานเขียวเชื่อมสวนเบญจกิติ และสวนลุมพินี

ด้านสิ่งแวดล้อมดี

  • เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้มากกว่า 1.8 ล้านต้น, พัฒนาสวน 15 นาททีที่ได้มาตรฐานเกือบ 200 สวน
    ขยายเวลาเปิด-ปิดสวนสาธารณะ ขยายการบริการ Pet Park
  • ลด และ คัดแยกขยะ สามารถลดปริมาณขยะเมื่อเทียบกับช่วงก่อน โควิดมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ประหยัดค่ากำจัดขยะ 1,000 ล้านบาท ค่าเก็บขนขยะ 2,000 ล้านบาท, ผลักดันข้อบัญญัติการคัดแยกขยะเพื่อลดค่าธรรมเนียม, ลดค่าฝังกลบขยะจาก 700 บาท เหลือ 600 บาท ประหยัดงบประมาณกว่า 230 ล้านบาท
  • แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 มีการประกาศ Low Emission Zone ห้ามรถบรรทุกเข้าเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีรถมาลงทะเบียน Greenlist เกือบ 60,000 คัน, สร้างเครือข่าย Work From Home มากกว่า 100,000 คน, ให้ยืมรถอัดฟางลดการเผาตอซังครอบคลุมพื้นที่กว่า 17,000 ไร่, พัฒนาห้องเรียนปลอดฝุ่น พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนกว่า 740 ห้อง

ด้านสังคมดี

  • ดูแลชุมชนและกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กระจายอำนาจงบประมาณให้ชุมชนเสนองบได้ 200,000 บาท/ชุมชน/ปี, จัดทำฐานข้อมูลชุมชนและสำรวจกลุ่มเปราะบาง ร่วมกับอาสาเทคโนโลยีในชุมชนส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ, สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยจำนวน 15 ชุมชน มากกว่า 1,800 ครัวเรือน, BKK Food bank ส่งต่อมื้ออาหารมากกว่า 4 ล้านมื้อ, ⁠จุด Drop-in ช่วยเหลือคนไร้บ้าน ทำบัตรประชาชน ตัดผม อาบน้ำ แจกอาหารมีผู้ใช้บริการหมุนเวียนกว่า 225,640 ครั้งและได้งานทำมากกว่า 50 คน , สิ้นปีนี้เตรียมเปิดบ้านอิ่มใจ ดูแลคนไร้บ้านแบบครบวงจร, กทม.จ้างงานคนพิการ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจาก 132 คน เป็น 415 คน
  • ยกระดับการบริการกีฬา-นันทนาการ ได้จัดสรรงบประมาณแบ่งสัดส่วนเน้นปรับปรุงกายภาพแทนการจัดกิจกรรม, ขยายเวลาเปิด-ปิด เพื่อให้บริการประชาชนสวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา ศูนย์นันทนการและห้องสมุด, ศูนย์กีฬา-ศูนย์นันทนาการ-ห้องสมุดมีสมาชิกมากกว่า 230,000 คน (แอพ CSTD) ผู้จองใช้งานมากกว่า 1,265,812 ครั้ง, ผู้ใช้งานลานกีฬามากกว่า 11 ล้านครั้งต่อปี, ปรับปรุงกายภาพบ้านหนังสือ 82 แห่ง, ปรับปรุงกายภาพลานกีฬา 204 แห่ง
  • ส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรุงเทพกลางแปลง, Bangkok Design Week, Colorful Bangkok ฯลฯ, กิจกรรม Pride month มีคนเข้าร่วมกว่า 200,000 คนในปีที่ผ่านมา, เปิดแพลตฟอร์มจองพื้นที่สาธารณะให้คนจองจัดกิจกรรมได้สะดวกขึ้น, ดนตรีในสวน 405 ครั้งใน 15 สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ, โครงการ Bangkok Street performer มีศิลปินเข้าร่วม 555 กลุ่ม ทำการแสดงมากกว่า 8,177 รอบ, มีการขอถ่ายทำ⁠ผ่านศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ฯ159 กองถ่าย 288 พื้นที่

ด้านสุขภาพดี

  • บริการสาธารณสุขเชิงรุก โดยเดินหน้าตรวจสุขภาพล้านคนแล้วกว่า 780,000 คน, Mobile Medical Unit
    ตรวจสุขภาพเชิงรุกถึงชุมชน มากกว่า 360,000 คน, Motorlance ช่วยลดเวลาในการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉิน < 10 นาที, ทำบัตรคนพิการเชิงรุกถึงบ้าน ดำเนินการแล้วกว่า 23,300 เคส, Healthtech และบริการหมอทางไกล ผู้ใช้งานกว่า 187,000 ครั้ง
  • เพิ่มขีดความสามารถของสถานพยาบาล โดยก่อสร้างและปรับปรุง รพ. รองรับผู้ป่วยนอกได้มากขึ้นกว่า 1,000,000 เคส, ขยายคลินิกนอกเวลารองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 300,000 เคส, ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข ความพึงพอใจของประชาชนขึ้นมาเป็น 4.67 จากคะแนนเต็ม 5, Pride Clinic ให้คำปรึกษาทุกเพศทุกวัย ไปกว่า 45,000 เคส
  • ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน และ สัตว์เลี้ยง โดยผลักดันโครงการสุขภาพผ่านกองทุน สปสช มากกว่า 4,900 โครงการ มูลค่ากว่า 1,200 ล้าน, ส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุมียอดสมาชิกทะลุ 39,000 คน, 3 ปี ผ่าตัดทำหมันหมาแมวกว่า 119,000 ตัว วัคซีนพิษสุนัขบ้า 489,000 ตัว รับอุปการะไปมากกว่า 270 ตัว
  • รวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ โดยเพิ่มตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 แห่งจาก กทม. และ 2,400 แห่งจากภาคเอกชน, รวบรวมและเข้าตรวจสุขอนามัยของห้องน้ำสาธารณะกว่า 5,900 แห่ง, ติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะและชุมชนมากกว่า 330 แห่ง

ด้านเศรษฐกิจดี

  • บริหารจัดการผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดยจัดระเบียบหาบเร่นอกจุดผ่อนผันมากกว่า 400 จุด ผู้ค้ามากกว่า 5,000 ราย, พัฒนาระบบ Check-in ช่วยยืนยันตัวตนผู้ค้าในจุดผ่อนผัน, จัดหา Hawker Center รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ
  • จัดหาพื้นที่ขายของ โดยเปิดจองแผงค้าออนไลน์ในตลาด กทม. ไปมากกว่า 500 แผงค้า, จัดถนนคนเดินกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้มากกว่า 19 ล้านบาท, ส่งเสริมพื้นที่การขายสินค้าชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Lazada Shopee Tiktok, ⁠เปิด Farmer Market 50 เขต และ 4สวนสาธารณะ เกษตรกรพบผู้บริโภคโดยตรงจำหน่ายผักผลไม้ออร์แกนิก 100% มาตรฐาน Bangkok G
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยพัฒนาเวปไซต์ visit.bangkok.go.th รวบรวมกิจกรรมท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ, ⁠ร่วมกับคนในพื้นที่พัฒนาย่านสร้างสรรค์ 55 ย่านเช่น ตลาดพลู ทรงวาด ตลาดน้อย บางลำพู
  • ฝึกอาชีพ โดยโรงเรียนฝึกอาชีพ มีคนสนใจมาเรียน upskill- reskill มากกว่า 100,000 คน, เพิ่มหลักสูตรฝึกอาชีพ ตอบโจทย์ตลาดงาน เช่น ขับรถสามล้อไฟฟ้า แม่บ้านโรงแรม ตัดขนสุนัข, เปิดแพลตฟอร์มประชาสัมพันธ์ร้านค้า และงาน Freelance สำหรับนักเรียนที่จบหลักสูตรโรงเรียนฝึกอาชีพ

ด้านปลอดภัยดี

  • การเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างมากกว่า 115,000 ดวง, ติดตั้งกล้อง AI CCTV ตรวจจับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้ากว่า 460,000 คดี, ปรับปรุงทางม้าลายไปแล้วกว่า 2,100 แห่งปรับลดความเร็วสูงสุดเหลือ 60 กม./ชม., ลดการเสียชีวิตบนท้องถนนไปกว่า 9%
  • เพิ่มขีดความสามารถ จัดการสาธารณภัย โดยก่อสร้างและปรับปรุงสถานีดับเพลิงแล้ว 5 แห่ง และอยู่ในแผนอีก 6 แห่ง, ซ่อมแซมรถดับเพลิงให้พร้อมใช้งานมากกว่า 80% เพิ่มจากเดิมที่อยู่ที่ 37%, กระจายถังดับเพลิงไปมากกว่า 74,000 ถังตั้งเป้า 5 หลังคาเรือนต่อถัง, จัดทำแผนเผชิญและและฝึกซ้อมการเผชิญเหตุให้กับชุมชนเกือบ 1,200 ชุมชน, รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบความพร้อมใช้งานของประปาหัวแดงกว่า 24,000 จุด

ด้านบริหารจัดการดี

  • ประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง จากการจัดซื้อจัดจ้างปี 67 กว่า 30,275 ล้านบาท
  • ตั้งเป้าหมาย ติดตามการทำงาน Tight Loose Tight ตั้งเป้าหมายให้ชัด ให้อิสระในการดำเนินการ และติดตามอย่างเข้มงวด, กำหนด 32 เป้าหมายในการดำเนินการของสำนักงานเขตพร้อมติดตามผ่านระบบ policy.bangkok
  • เพิ่มขีดความสามารถองค์กร กทม. โดยจัดตั้ง ‘สำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร’ เพื่อตอบรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาเมือง, อบรมการใช้ AI ให้กับคน กทม. นำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน, แต่งตั้งทูตสื่อสาร นำคนรุ่นใหม่ช่วยสื่อสารการทำงานของหน่วยงาน กทม. ให้กับประชาชน
  • ยกระดับการบริการให้กับประชาชน เพิ่มจุดบริการด่วนมหานครตามห้างและตลาด 12 แห่ง รวมเป็น 20 แห่ง นำบริการ กทม. ไปหาประชาชน

เรียนดี

  • การจัดการเรียนการสอนแบบดิจิทัลคลาสรูม โดยนักเรียน กทม. สามารถเรียนผ่านโครมบุ๊ก ทำให้คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนเพิ่มขึ้น 28%
  • นำเทคโนโลยีช่วยสอน ห้องเรียนดิจิตัล ปี 67 ขยาย 10 โรงเรียน ผลการเรียนดีขึ้นทุกวิชา ปี 68 ขยาย 437 โรงเรียน ระดับชั้น ป.4, ม.1 ทุกคน
  • ใช้ AI ช่วยฝึกเด็กพูด/เขียน ภาษาอังกฤษดีขึ้น 37%
  • คืนครูให้ห้องเรียน จ้างธุรการ 371 คน จ้าง รปภ. ทุกโรงเรียน ทำให้ครูไม่ต้องเข้าเวร ลดเอกสารการเงิน 45% เติมครูภูมิลำเนากรุงเทพฯ (ครูช้อน) เพิ่มสวัสดิการบ้านพักครู

    – พัฒนาครู สร้างครูแกนนำ เทคโนโลยี และสร้างเครือข่าย โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ สร้างครูแกนนำ 1,400 คน ออกแบบหลักสูตร สื่อการสอน และวัดผลด้วยเทคโนโลยีได้ สร้างครูโค้ช 120 คน เข้าร่วมโครงการก่อการครู ขยายผล SLC


https://pr-bangkok.com/?p=487192

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่

ความคิดเห็น

0 รายการ
เรียงลำดับตาม