กทม. แต่งตั้งคณะทำงานฯ ศึกษาแนวทางการพัฒนางานวิศวกรรมในพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเมือง
(7 ต.ค. 67) เวลา 14.00 น. : นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการงานด้านวิศวกรรมในการพัฒนาเมือง โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 13 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา อาทิ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เข้ามาช่วยดูว่าเราจะร่วมพัฒนาและบริหารจัดการงานด้านวิศวกรรมในการพัฒนาเมืองอย่างไร เชื่อว่าคณะทำงานชุดนี้จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ โดยตั้งเป้าให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมภายในเดือน ธ.ค. 67 ทั้งนี้ ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงาน 3 คณะ เพื่อส่งเสริม พัฒนา และยกระดับองค์ความรู้และมาตรฐานการดำเนินงานด้านวิศวกรรมในการพัฒนาเมือง ประกอบด้วย 1. คณะทำงานด้านการสำรวจ ออกแบบและบริหารโครงการของสำนักการโยธา 2. คณะทำงานด้านการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านบริหารจัดการน้ำ และ 3. คณะทำงานด้านการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่ง โดยคณะทำงานในแต่ละด้านจะประกอบด้วยผู้บริหารจากสำนักต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1. รวบรวมอุปสรรคและผลกระทบต่าง ๆ ของโครงการด้านวิศวกรรมของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร รวมถึงขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ในการทำงานเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการ 2. ศึกษาแนวทางในการพัฒนากระบวนการสำรวจออกแบบและการบริหารโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร รวมถึงลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับบริบทของเมืองเมืองในสภาวะปัจจุบัน 3. ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน ด้านการสำรวจ ออกแบบและบริหารโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรในกรุงเทพมหานคร รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต 4. ส่งเสริมสนับสนุนการปรับปรุงมาตรฐานคู่มือและแนวทางในการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนและพัฒนาประสิทธิภาพตั้งแต่ การสำรวจ ออกแบบ การจัดทำรายการประกอบแบบราคากลางและร่างขอบเขตของาน (TOR) ขั้นตอนการควบคุมบริหารสัญญา การตรวจสอบติดตามควบคุมคุณภาพ การควบคุมความปลอดภัย และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินการภายหลังการก่อสร้าง จนถึงหมดวาระค้ำประกันผลงาน 5. การควบคุมติดตาม การกำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่มาดำเนินการในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปโดยมาตรฐานงานที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 6. รวบรวมผลการดำเนินการ เสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการงานด้านวิศวกรรมในการพัฒนาเมือง 7. ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการงานด้านวิศวกรรมในการพัฒนาเมืองมอบหมาย———
Source: https://pr-bangkok.com/?p=415056
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
ความคิดเห็น