Menu
ONLINE 20
TH
EN
13/11/2024

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เรียกประชุมทีมเตรียมรับมือน้ำท่วม ปี 68

(13 พ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นัดประชุมเร่งด่วนเพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วม ปี 2568 และวางแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยงบประมาณปี 2569 ในการนี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและรายงานข้อมูล ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร

โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กำชับให้เร่งดำเนินงานตามแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ และให้กำกับดูแลโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลา เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประสิทธิภาพ

ในการประชุมวันนี้ สำนักการระบายน้ำได้รายงานสรุปสถานะจุดเสี่ยง รวม 737 จุด ดังนี้ 1. จุดเสี่ยงปัญหาน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน 120 จุด 2. ปัญหาน้ำท่วมจากฝนบริเวณถนนสายหลัก (สำนักการระบายน้ำ) 144 จุด 3. ปัญหาน้ำท่วมจากฝนบริเวณถนนสายรอง (สำนักงานเขต) 473 จุด โดยเป็นจุดเสี่ยงที่มีมาตรการเร่งด่วน รวม 44 จุด เป็นพื้นที่เอกชนหรือหน่วยงานราชการ 91 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข 324 จุด แก้ไขแล้วเสร็จบางส่วน 165 จุด แก้ไขแล้วเสร็จทั้งระบบ 113 จุด

ด้านการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ปีงบประมาณ 2567 ท่อระบายน้ำใน กทม. มีความยาวรวม 6,816 กม. แบ่งเป็นท่อในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ 2,083 กม. และสำนักงานเขต 4,733 กม. โดยมีแผนล้างท่อเป็นความยาว 4,309.6 กม. และมีผลการดำเนินงานล้างท่อ 100% ส่วนปีงบประมาณ 2568 ท่อระบายน้ำใน กทม. มีความยาวรวม 6,924 กม. (เพิ่มขึ้น 108 กม.) แบ่งเป็นท่อในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ 2,083 กม. และสำนักงานเขต 4,841 กม. โดยมีแผนล้างท่อเป็นความยาว 3,803.6 กม. ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานล้างท่อแล้ว 186.5 กม. คิดเป็น 4.90% คงเหลืออีก 3,617.1 กม. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568

ต่อมา รายงานเรื่องแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเครื่องมือในการป้องกันน้ำท่วมเนื่องจากน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ว่า กรุงเทพมหานครมีภาพรวมแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทาง 88 กม. โดย 80 กม. เป็นแนวป้องกันของ กทม. และ 3.65 กม. เป็นแนวป้องกันของเอกชนและหน่วยงานราชการ ส่วนอีก 4.35 กม. เป็นแนวฟันหลอ ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนปี 2565 พบปัญหาจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน จำนวน 120 แห่ง โดยเป็นแนวป้องกันของ กทม. รั่วซึม 76 แห่ง ความยาวรวม 12.20 กม. เป็นแนวป้องกันของเอกชนและหน่วยงานราชการ 12 แห่ง ความยาวรวม 2.15 กม. และเป็นแนวฟันหลอ 32 แห่ง ความยาวรวม 4.35 กม. ซึ่งในส่วนของผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาแนวป้องกันรั่วซึมและแนวฟันหลอ มีโครงการที่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 80 แห่ง ได้แก่ แนวป้องกันของ กทม. ที่รั่วซึม ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 45 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 แห่ง แนวป้องกันของเอกชนและหน่วยงานราชการ ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 1 แห่ง และแนวฟันหลอ ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 14 และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 11 แห่ง ที่เหลือเป็นจุดที่ได้รับงบประมาณปี 68 อยู่ระหว่างของบประมาณปี 69 และอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ โดยจุดที่อยู่ระหว่างของบประมาณและยังไม่มีโครงการรองรับนั้น จะใช้มาตรการชั่วคราวโดยการเรียงกระสอบทรายป้องกัน

ในเรื่องของพื้นที่รองรับและกักเก็บน้ำ (แก้มลิง) ของกรุงเทพมหานคร มีแก้มลิงที่จัดหาได้แล้วในปัจจุบัน รวม 37 แห่ง (บึง 33 แห่ง Water Bank 4 แห่ง) ปริมาตรรวมกว่า 13.54 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2567 และ 2568 โดยมีปริมาตรรวม 178,000 ลบ.ม. และมีแผนจัดหาเพิ่ม ปึงบประมาณ 2569 จำนวน 9 แห่ง ปริมาตรรวม 502,500 ลูกบาศก์เมตร

จากนั้น ได้รายงานถึงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวม 12 อุโมงค์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 แห่ง และที่จะก่อสร้างในอนาคตอีก 4 แห่ง

สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ประกอบด้วย 1. อุโมงค์ประชาราษฎร์ สาย 2 มีความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 3.40 ม. ความยาวประมาณ 1.88 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตบางชื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม. 2. อุโมงค์บึงมักกะสัน มีความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 4.60 ม. ความยาวประมาณ 5.98 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตวัฒนา คลองเตย ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม. 3. อุโมงค์คลองแสนแสบ มีความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 5.00 ม. ความยาวประมาณ 5.11 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. และ 4. อุโมงค์คลองบางซื่อ มีความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 5.00 ม. ความยาวประมาณ 6.40 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม.

อุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย 1. อุโมงค์หนองบอน มีความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 5.00 ม. ความยาวประมาณ 9.40 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2569 2. อุโมงค์คลองเปรมประชากร มีความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 5.70 ม. ความยาวประมาณ 13.50 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และจตุจักร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2571 3. อุโมงค์คลองแสนแสบส่วนต่อขยาย มีความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 3.60 ม. ความยาวประมาณ 3.80 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และคันนายาว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 25 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2570 และ 4. อุโมงค์คลองทวีวัฒนา มีความสามารถในการระบายน้ำ 32 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 3.70 ม. ความยาวประมาณ : 2.03 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2569

อุโมงค์ระบายน้ำที่จะก่อสร้างในอนาคต ประกอบด้วย 1. อุโมงค์คลองพระยาราชมนตรี มีความสามารถในการระบายน้ำ 48 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 5.00 ม. ความยาวประมาณ 12.00 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 84 ตร.กม. 2. อุโมงค์คลองบางชื่อส่วนต่อขยาย เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 4.00 ม. ความยาวประมาณ 1.70 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตห้วยขวาง ลาดพร้าว และจตุจักร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 33.6 ตร.กม. 3. อุโมงค์ใต้คลองพระโขนง มีความสามารถในการระบายน้ำ 20 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 3.00 ม. ความยาวประมาณ 2.65 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตพระโขนง สวนหลวง และประเวศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 21 ตร.กม. และ 4. อุโมงค์คลองประเวศ มีความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 5.00 ม. ความยาวประมาณ 6.00 กม. เป็นอุโมงค์สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตประเวศ ลาดกระบัง และสะพานสูง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30 ตร.กม.

นอกจากนี้ ได้รายงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ บริเวณถนนช่างอากาศอุทิศ ถนนวัดเวฬุวนาราม จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังบริเวณถนนรัชดาภิเษก บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงจากคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร งานก่อสร้างพื้นที่เขตลาดกระบัง จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังบริเวณถนนประชาสุข ประชาสังเคราะห์ แยกห้วยขวาง แผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่เขตบางนา โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมถนนศรีอยุธยาและถนนพระรามที่ 6 แผนบริหารจัดการน้ำถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย แผนงานบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำประจำปี 2568 เป็นต้น

—————————เดินทางดี #เตรียมรับมือน้ำท่วม #ผู้ว่าฯชัชชาติ


Source : https://pr-bangkok.com/?p=427766

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่

ความคิดเห็น

0 รายการ
เรียงลำดับตาม